จุดเริ่มต้นในการสร้างหรือพัฒนาวัฒนธรรมองค์กร (Corporate Culture)

จุดเริ่มต้นในการสร้างหรือพัฒนาวัฒนธรรมองค์กร (Corporate Culture)

ดร.ปิยะวัฒน์  จารุธนรัตน์กุล , C-DPO

 

ที่ปรึกษา HR & Performance Management ,PDPA

 

 


 การสร้างหรือพัฒนาวัฒนธรรมองค์กร เป็นอีกเครื่องมือหนึ่งที่สำคัญของนักบริหาร  เพื่อทำให้องค์กรมีประสิทธิภาพและบรรลุถึงผลสำเร็จตามที่ต้องการ  ทั้งนี้เมื่อกล่าวถึงวัฒนธรรมองค์กร คำถามที่ตามมาก็คือ วัฒนธรรมองค์กรคืออะไร มีรูปร่าง หน้าตาอย่างไร ดำรงอยู่ตรงไหนภายในองค์กรของเรา เพราะหากเราจะสร้างหรือพัฒนาวัฒนธรรมองค์กร แต่เรายังไม่ทราบว่าสิ่งนี้คืออะไร ดำรงอยู่ตรงไหน  สภาพปัจจุบันเป็นอย่างไร เราก็จะไม่ทราบว่าจะเริ่มต้นทำอะไร อย่างไร

 

    สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ได้ให้ความหมายของ "วัฒนธรรม" ไว้ว่า วัฒนธรรมเป็นแบบแผนการดำรงชีวิตของมนุษย์ ที่ประกอบด้วยกลไกอันสลับซับซ้อนและผกผัน แปรปรวนไปตามลักษณะจำเพาะของแต่ละท้องถิ่น ทั้งนี้เราสามารถแบ่งระดับของวัฒนธรรมออกได้เป็น ระดับ คือ (สุนทร วงศ์ไวศยวรรณ ,วัฒนธรรมองค์การ ,2540)  
    1) วัฒนธรรมของประเทศ ซึ่งจะมีเอกลักษณ์ที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับประวัติความเป็นมาและความยาวของประเทศนั้น
    2) วัฒนธรรมระดับกลุ่มหรือระดับเชื้อชาติ เนื่องจากในประเทศหนึ่งๆ อาจมีคนหลาย กลุ่ม หลายเชื้อชาติ ทำให้มีวัฒนธรรมที่ หลากหลาย
    3) วัฒนธรรมองค์กร เป็นวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นภายในองค์กรนั้นๆ อย่างไรก็ตามวัฒนธรรมองค์กรก็อาจได้รับอิทธิพลมาจากวัฒนธรรม ของเชื้อชาติและของประเทศ

ทั้งนี้ การมองระดับของวัฒนธรรมอาจมองในลักษณะของภูเขาน้ำแข็ง (
iceberg) คือมีส่วนที่อยู่เหนือน้ำและส่วนที่อยู่ใต้น้ำ ซึ่งทำให้สามารถแบ่งระดับของวัฒนธรรม ออกได้ ดังนี้
    1) ส่วนที่มองเห็น จะเป็นสิ่งที่สมาชิกองค์กรสร้างขึ้นมา เช่น สิ่งประดิษฐ์ต่างๆถาวรวัตถุตราสัญลักษณ์ป้ายคำขวัญพิธีกรรม หรือการแต่งกาย เป็นต้น
    2) ส่วนที่มองไม่เห็น แต่เป็นสิ่งที่สมาชิก รับรู้และเข้าใจร่วมกัน เช่น ค่านิยมขององค์กร ความเชื่อ ความเข้าใจร่วมกันในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง

หากถามว่าวัฒนธรรมองค์กรเกิดขึ้นมาได้อย่างไร โดยทั่วไปจะพบว่าวัฒนธรรมเกิดจาก ผู้ก่อตั้งและสมาชิกแรกเริ่มขององค์การที่จะกำหนดมาตรฐานพฤติกรรมบางสิ่งบางอย่าง ขึ้นมา ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่าวัฒนธรรมองค์กร เกิดขึ้นมาและดำรงอยู่ได้ เนื่องจาก
    - สิ่งที่ผู้นำองค์กรให้ความสนใจ กระทำเป็นแบบอย่าง สั่งสอน ชี้แนะ ติดตามและควบคุม เน้นย้ำอย่างสม่ำเสมอ จนเป็นแบบอย่างให้สมาชิกองค์กร
    - ปฏิกิริยาหรือการตอบสนองต่อเหตุการณ์สำคัญ หรือวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นกับองค์กรจนกลายเป็นค่านิยมหรือความเชื่อของคนในองค์กร
    - การประพฤติปฏิบัติของผู้บริหารระดับสูงที่สืบทอดกันมา กระทำตนเป็นแบบอย่าง สม่ำเสมอ เพื่อเน้นย้ำค่านิยมและวิถีปฏิบัติที่ผู้ก่อตั้งได้สร้างเอาไว้
    - การสรรหาและคัดเลือกพนักงานโดยการ คัดเลือกบุคคลที่มีวัฒนธรรมที่สอดคล้องกับวัฒนธรรมการทำงานขององค์กร ทั้งนี้รวมถึงการใช้กระบวนการปฐมนิเทศพนักงานใหม่
    - กระบวนการเรียนรู้ทางสังคมเป็นกระบวน การปรับพนักงานให้เข้ากับวัฒนธรรมขององค์กรโดยการให้ข้อมูลต่างๆ ผ่านกิจกรรมที่จัดขึ้น ทั้งนี้การเรียนรู้ดังกล่าวอาจเป็นการเรียนรู้ ตั้งแต่ช่วงก่อนเข้ามาสู่องค์กร ช่วงที่เข้ามาสู่องค์กรระยะแรกๆ และช่วงที่เข้ามาอยู่ภายในองค์กรอย่างเต็มตัว
    - การออกแบบโครงสร้างองค์กร ซึ่งจะเป็นตัวกำหนดลักษณะความสัมพันธ์และระดับการควบคุมระหว่างบุคคลต่างๆ ในองค์กร ซึ่งหากจัดโครงสร้างองค์กรที่เน้นการกระจายอำนาจมากๆ ก็จะสะท้อนต่อความเชื่อมั่นของผู้บริหารที่มีต่อความสามารถของพนักงาน
    - ระบบและขั้นตอนการทำงานต่างๆ ซึ่งจะเกิดซ้ำๆ เพื่อเน้นย้ำค่านิยมขององค์กร หรือสื่อสาร ค่านิยมที่สำคัญของผู้บริหาร
    - การให้ความสำคัญในกิจกรรมและเรื่องราวที่องค์กรให้ความสำคัญ
    - การออกแบบอาคาร สถานที่ สภาพแวดล้อมต่างๆ ในการทำงาน ซึ่งจะช่วยส่งเสริมให้มีโอกาสในการติดต่อสื่อสาร มีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน
 


 ดังนั้นเมื่อเราทราบถึงรูปแบบและสาเหตุแห่งการเกิดขึ้นของวัฒนธรรมองค์กรแล้ว เราก็จะทราบถึงแหล่งในการสืบค้นวัฒนธรรมองค์กร  เพื่อให้ทราบว่า ณ ปัจจุบัน  องค์กรของเรามีวัฒนธรรมองค์กรอย่างไร  โดยการสืบค้นนี้  เราจะต้องแปลความหมายที่แฝงอยู่ในแหล่งสัญลักษณ์ต่างๆ  เหล่านั้น  คือ
    1) สัญลักษณ์ที่เป็นวัตถุ เช่น เครื่องแบบ ตราประจำองค์กร รูปลักษณ์ของอาคาร สไตล์การตกแต่งสำนักงาน การวางผังห้องทำงาน
    2) สัญลักษณ์ที่เป็นวาจา ภาษา เช่น เพลงประจำองค์กร ข่าวลือ คำขวัญ ศัพท์สแลงต่างๆ ที่ใช้ในหน่วยงาน
    3) สัญลักษณ์ที่เป็นการกระทำ การปฏิบัติ กิจกรรม รวมถึงข้อห้ามต่างๆ
    4) เรื่องเล่า เช่นเรื่องเล่าเกี่ยวกับเหตุการณ์สำคัญ เรื่องเล่าที่ได้ยินในเวลาทำงานแต่ละวัน ตำนานการต่อสู้ ความเชื่อดั้งเดิม
    5) รูปแบบของโครงสร้างองค์กร เทคโนโลยี อุปกรณ์ ความรู้ ที่ใช้ในการ ดำเนินงาน
    6) ประเพณีที่เห็นชัดเจน เช่น ประเพณีเกี่ยวกับงาน ประเพณีเกี่ยวกับผู้นำ

 


จากขั้นตอนการสืบค้นวัฒนธรรมองค์กรนี้  จะเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญที่สุดของการพัฒนาวัฒนธรรมองค์กร   เพื่อสร้างหรือพัฒนารูปแบบพฤติกรรมที่องค์กรต้องการ  ซึ่งอาจจะเป็นการสื่อสารสิ่งที่ต้องการสร้างหรือพัฒนาผ่านช่องทางหรือสัญลักษณ์รูปแบบต่างๆ ที่กล่าวถึงข้างต้น  หรืออาจจะสร้างสรรค์สัญลักษณ์ขึ้นใหม่ ผสมผสานเข้ากับเทคโนโลยีทางการสื่อสารที่องค์กรมีอยู่  เพื่อสร้างและพัฒนาวัฒนธรรมองค์กรที่สอดคล้องกับต้องการขององค์กรต่อไป